ผสมผสานการสอนสะเต็มให้ดีต่อใจ

ผสมผสานการสอนสะเต็มอย่างไร เมื่อการเรียนรู้สะเต็มแบบเดิมที่สอนแต่ละวิชาแยกกัน เริ่มจำเจ ซับซ้อน และนักเรียนเบือนหน้าหนี

พฤติกรรมแบบนี้ อาจเป็นเพียงเนื้อหาซ้ำเดิม ที่ทำให้นักเรียนรู้สึกเบื่อหน่าย ลองเปลี่ยนมาผสมผสานการสอนสะเต็มให้หลากหลาย เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยปลุกเร้าให้นักเรียนกลับมาสนุกเหมือนเดิม

ผสมผสานการสอนสะเต็ม

คุณครูหลายท่านเข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า สะเต็มศึกษา (STEM Education) คือการเรียนรู้แบบบูรณาการที่นำความรู้และทักษะจากหลายศาสตร์เข้ามาผสมผสานผ่านกิจกรรม (Activity based) หรือการทำโครงงาน (Project based) ให้เหมาะกับวัยของนักเรียน เพราะการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา (STEM Education) ช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการคิด การใช้เทคโนโลยี การแก้ปัญหา และการสื่อสาร ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นทักษะจำเป็นของโลกยุคใหม่ทั้งสิ้น ไม่เพียงเท่านั้นนักเรียนของคุณครูยังจะได้รับความรู้แบบองค์รวมที่สามารถนำไปเชื่องโยงหรือประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้อีกด้วย

ผสมสานการสอนสะเต็มอย่างไร ให้นักเรียนไม่รู้สึกเครียดในคาบนี้เกินไป

ปัญหานี้การสอนสะเต็มอาจเคยเกิดขึ้นกับห้องเรียนของคุณครูบางท่าน เมื่อการสอนหรือการทดลองเริ่มเข้มงวด ปัญหาที่กำลังแก้เริ่มซับซ้อนมากขึ้น บรรยากาศเริ่มอึมครึม นักเรียนเบือนหน้าหนี พฤติกรรมแบบนี้อาจไม่ใช่เพราะครูที่ทำให้บรรยากาศเสีย แต่อาจเป็นเพียงเนื้อหาที่ซ้ำเดิมทำให้นักเรียนรู้สึกเบื่อหน่ายในคาบเรียน

การผสมผสานการสอนสะเต็มสามารถสลับขั้นตอนหรือย้อนกลับขั้นตอนได้

เพราะการแก้ปัญหาแบบสะเต็มนั้นเป็นเรื่องที่มักจะเกิดกระบวนการทำซ้ำและต่อเนื่องจนกว่าจะแก้ไขได้อยู่แล้ว การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสะเต็มศึกษาจึงสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระดับดังนี้

การบูรณาการภายในวิชา (Disciplinary Integration)

คือ การจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มปกติที่ออกแบบให้เรียนรู้เนื้อหาและฝึกทักษะในแต่ละวิชาแยกกัน ทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะ โดยคุณครูในแต่ละวิชาจะจัดการสอนตามวิชาของตนเองให้นักเรียนได้รู้ลึกและเชี่ยวชาญในวิชานั้น ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในแบบบูรณาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การบูรณาการแบบพหุวิทยาการ (Multidisciplinary Integration)

คือ การจัดการเรียนรู้สะเต็มที่ออกแบบให้เรียนรู้เนื้อหาและฝึกทักษะแบบแยกวิชา เพียงแต่คุณครูทุกสาระวิชามีการกำหนดข้อหลัก (Theme) ร่วมกันและเชื่อมโยงระหว่างวิชานั้น ๆ การจัดการเรียนรู้ในรูปแบบนี้จะช่วยพัฒนาทักษะการเชื่อมโยงเนื้อหาของวิชาต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเข้าด้วยกัน เช่น ครูที่สอนเทคโนโลยีเริ่มจากการแนะนำ กระติบข้าว ถือเป็นเทคโนโลยีภูมิปัญญาชาวบ้านที่สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์การเก็บความร้อนของข้าว ครูวิทยาศาสตร์ฯ เองก็ยกตัวยอย่างกระติบข้าวเพื่อสอนเรื่องการถ่ายโอนความร้อน ครูคณิตศาสตร์ใช้กระติบข้าวมาสอนเรื่องการหาพื้นที่ และครูศิลปะก็ให้นักเรียนได้ออกแบบลายสานของกระติบข้าวให้สวยงาม และสามารถใช้เก็บความร้อน ในขนาดที่เหมาะสมได้

การบูรณาการแบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary Integration)

คือ การจัดการเรียนรู้สะเต็มที่ออกแบบให้เรียนรู้เนื้อหาและฝึกทักษะอย่างน้อย 2 วิชาร่วมกัน โดยมีกิจกรรมเป็นตัวเชื่อมเพื่อให้นักเรียนเห็นความสัมพันธ์ การเรียนรู้รูปแบบนี้คุณครูจะต้องทำงานวางแผนการสอนร่วมกัน โดยพิจารณาออกแบบผ่านเนื้อหาและตัวชี้วัด เช่นหลังจากที่ครูวิทยาศาสตร์ได้สอนเรื่องถ่ายโอนความร้อนและฉนวนกันความร้อน ให้นักเรียนทำกิจกรรมทดลองเพื่อหาปัจจัยของการเก็บความร้อนในกระติบข้าว และชวนคุณครูคณิตศาสตร์เข้ามาช่วยสอนเรื่องของการหาพื้นที่และปริมาตรก่อนการเริ่มทดลอง หลังจากอธิบายแล้วให้นักเรียนเริ่มหาข้อมูลและทดลองสร้างชิ้นงานต่อไป

การบูรณาการแบบข้ามสาขาวิชา (Transdisciplinary Integration)

คือ การจัดการเรียนรู้สะเต็มที่ออกแบบให้เชื่อมโยงความรู้และทักษะที่ได้จากวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มาเชื่อมโยงกับชีวิตจริง และนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนหรือสังคม และสร้างประสบการณ์ให้ตนเองโดยครูผู้สอนมีหน้าที่จัดการเรียนรู้ตามความสนใจหรือปัญหาของนักเรียน โดยคุณครูเป็นผู้กำหนดกรอบหรือหัวข้อจากปัญหากว้าง ๆ ให้แคบลงเพื่อหาปัญหาเฉพาะและวิธีการแก้ปัญหา ในการกำหนดกรอบของปัญหานั้นคุณครูจะต้องคำนึงถึงปัจจัยการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย 3 ปัจจัยนี้

  1. ปัญหาหรือเรื่องราวที่นักเรียนสนใจ
  2. ตัวชี้วัดในวิชาที่เกี่ยวข้อง
  3. ความรู้เดิมของนักเรียน

เมื่อออกแบบการเรียนรู้สะเต็มโดยใช้ปัญหาเป็นฐานหรือโครงงานเป็นฐาน

กลยุทธ์ในการออกแบบการสอนที่ใกล้เคียงกับแบบบูรณาการ คือสิ่งที่ทำให้คุณครูสามารถจัดการเรียนรู้แบบข้ามสาขาวิชาได้ง่ายขึ้น โดยกำหนดปัญหาหรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นักเรียนนำมาพัฒนา เช่น ร้านอาหารมักใช้โฟมหรือถุงพลาสติกในการบรรจุแต่ไม่สามารถเก็บความร้อนได้แบบกระติบข้าว จึงชวนนักเรียนออกแบบภาชนะบรรจุข้าวที่สามารถเก็บความร้อนได้ดีแทนกล่องโฟมหรือถุงพลาสติก เพื่อลดการใช้งานบรรจุภันฑ์พลาสติก หลังจากคุณครูนำเสนอปัญหาดังกล่าว ลองให้นักเรียนได้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาโดยใช้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ และผ่านกระบวนการออกแบบทางวิศวกรรม เพื่อต่อยอดการคิดให้นักเรียน

การผสมผสานการสอนสะเต็มศึกษาเกิดประโยชน์หลากหลายต่อนักเรียน

  1. ช่วยเพิ่มทักษะการคิดวิเคราะห์และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยใช้การเรียนรู้ตามแนวสะเต็มเป็นฐาน
  2. นักเรียนเข้าใจสาระวิชา กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มากยิ่งขึ้น
  3. สามารถเชื่อมโยงระหว่างสาระวิชาและชีวิตจริงเข้าด้วยกันได้อย่างยั่งยืน
  4. เกิดห้องเรียนปฏิสัมพันธ์ สลัดความจำเจในรูปแบบการสอนเดิม ๆ
  5. สร้างพลเมืองด้านสะเต็มของประเทศไทย เพิ่มศักยภาพที่มีผลต่อเศรษฐกิจของชาติ

ดังนั้นสะเต็มศึกษา (STEM Education) จึงเป็นแนวการสอนที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มาเพื่อมุ่งแก้ปัญหาในชีวิตจริง และเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ ทักษะชีวิต ให้นักเรียนพร้อมในการทำงานในอนาคตที่ต้องใช้องค์ความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโยโลยี รวมถึงศิลปะ เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมในอนาคตได้ และการผสมผสานการสอนสะเต็มให้ดีต่อใจตาม 4 ระดับข้างต้นจะช่วยให้ห้องเรียนของคุณครูเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน3

แหล่งอ้างอิง  https://www.aksorn.com/ac1-mixing-stem-teaching