ภูเขาน้ำแข็งแห่งสมรรถนะ
จากทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งของ Spencer และ Spencer (1993) ที่ต่อยอดแนวคิดสมรรถนะของ David McClleland (1974) โดยเปรียบเทียบองค์ประกอบของสมรรถนะกับภูเขาน้ำแข็งเพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจง่าย กล่าวคือ องค์ประกอบของฐานสมรรถนะ มี 5 องค์ประกอบ คือ
1. ความรู้ 2. ทักษะ 3. ทัศนคติ 4. อุปนิสัย 5. แรงจูงใจ
ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับภูเขาน้ำแข็งแห่งสมรรถนะ องค์ประกอบฐานสมรรถนะจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่มองเห็นได้ง่าย และส่วนที่มองเห็นได้ยาก
ส่วนที่มองเห็นได้ง่าย
เป็นส่วนที่จะถูกพัฒนาได้ง่าย เมื่อถูกพัฒนาแล้วจะเห็นภาพชัด ได้แก่ ความรู้ (Knowledge) : ข้อมูล หรือเนื้อหาเฉพาะด้านที่บุคคลควรต้องมี เช่น ความรู้คณิตศาสตร์ ความรู้ด้านการใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ทักษะ (Skill) : สิ่งที่บุคคลกระทำได้ดี จากการฝึกและปฏิบัติจนชำนาญ เช่น ทักษะการอ่าน ทักษะการฟัง ทักษะการพูด ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการวางแผน เป็นต้น
ส่วนที่มองเห็นได้ยาก (ส่วนที่อยู่ใต้น้ำ)
ส่วนที่มองไม่เห็น เปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้ยาก และส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม ได้แก่ ทัศนคติ (Self-Concept) : ค่านิยม และความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตนเอง อุปนิสัย (Trait) : พฤติกรรมที่เกิดจากการตอบสนองอย่างเคยชิน และเป็นสิ่งที่อธิบายถึงบุคคลนั้น เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นบุคลิกประจำตัวที่อธิบายถึงแต่ละคน ใช้ตอบสนองต่อสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน แรงจูงใจ (Motive) : เป็นแรงผลักดันให้บุคคลแสดงพฤติกรรมและความคิดที่มุ่งไปสู่สิ่งที่เป็นเป้าหมาย เช่น นาย ซี ต้องการเรียนให้จบถึงปริญญาตรี และพยายามทำให้สำเร็จตามที่ตั้งไว้ เป็นต้น